THNG long videoภารกิจของเราสำเร็จลุล่วงค่ะ
Posted by THNG on Wednesday, August 26, 2015
Thailand Networking Group หรือ THNG เป็นโครงการหนึ่งที่สนับสนุนโดยมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย(THNIC Foundation) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกลุ่มอาสาสมัครที่นำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไปประยุกต์ใช้กับภาคส่วนต่างๆของสังคมเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมภายใต้แนวความคิดที่ว่า”Internet Technology for Society: เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม” กิจกรรมหนึ่งของ THNG คือ THNG Camp เป็นค่ายสำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม เช่น post – disaster ICT THNG และ THNG Camp ไม่ได้ส่งเสริมเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจทางด้านนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่เรายังมีพันธมิตร และความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญทางด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต และภาคสังคม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และมุมมองในการพัฒนาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตกับสังคมของประเทศไทย ภายใต้แนวความคิดที่ว่า “IT Innovation for Society: เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม”
โดยในปี พ.ศ 2558 การดำเนินการของโครงการจัดกิจกรรมค่าย Thailand Networking Group ได้มีขึ้นเป็นครั้งที่ 5 โดยได้เลือกพื้นที่ในการจัดทำค่ายในพื้นที่ชุมชนบ้านใหม่ ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก โดยกำหนดการค่ายมีขึ้นในระหว่างวันที่ 16 ถึง 21 กรกฎาคม 2558 โดยตั้งเป้าหมายและภารกิจหลักของค่ายไว้ดังต่อไปนี้
-
ติดตั้งอุปกรณ์ Mobile Router ตามบ้านที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อกระจายสัญญาณ Wifi สร้างระบบเครือข่ายภายในชุมชน (Intranet Network)
-
ให้ความรู้แก่ชาวบ้านในชุมชนเกี่ยวกับการใช้งานอุปกรณ์รวมถึงการดูแลรักษาอุปกรณ์ต่างๆที่ทางโครงการได้ทำการติดตั้งในชุมชน
รูปแบบกิจกรรมของค่ายจึงมุ่งเน้นไปในลักษณะกึ่งการเรียนรู้เกี่ยวกับ IT และค่ายอาสาพัฒนาประเภท “ค่ายสร้าง” ที่มีการสร้างเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยให้คนในชุมชนที่สมาชิกค่ายได้ไปลงพื้นที่นั้นได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ทางค่ายได้สร้างเอาไว้ที่ต่างออกไปจากการสร้างสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หากแต่กิจกรรมค่าย THNG คือมีส่วนช่วยในการสร้างสิ่งจำเป็นประการสำคัญ นั่นคือการเสริมสร้างลักษณะบุคคลผู้คนในสังคมแห่งการเรียนรู้และการก้าวสู่ศตวรรษที่21 นั่นคือการมีลักษณะของการมี IT Literacy (ความสามารถในการเข้าถึงสารสนเทศได้อย่างเกี่ยวข้องกับการรู้สารสนเทศ) การเชื่อมต่อเพื่อเข้าถึงข้อมูลในสังคมเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
นอกจากสิ่งที่ทางผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่าย THNG 5th ได้ติดตั้งเครื่องเพื่อหนุนเสริมโอกาสการเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตไว้ให้กับชุมชนแล้ว การเก็บเกี่ยวประสบการณ์เรียนรู้จากการลงพื้นที่ชุมชน การซึมซับมิติของความต่างทางสังคม วัฒนธรรมในพื้นที่ที่ต่างออกไปจากที่ๆ ผู้เข้าร่วมค่ายกิจกรรมอยู่ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งซึ่งสะท้อนถึงผลลัพธ์แห่งการเรียนรู้ที่มากไปกว่าการเป็นผู้ให้ด้านเดียว ทางผู้ดำเนินการจัดกิจกรรมจึงออกแบบกิจกรรมที่นำไปสู่การถอดชุดประสบการณ์ให้เห็นสิ่งที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดยเริ่มอธิบายให้เห็นรายละเอียดผ่านผลการเดินงานภายใต้กรอบกำหนดการจัดกิจกรรม ดังนี้
วันที่ 16 กรกฏาคม 2558
ณ ห้องปฏิบัติการอินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษาและวิจัย (intERLab) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)
กิจกรรมภาคเช้าภายหลังการกล่าวต้อนรับสมาชิกค่ายผู้เข้าร่วมโครงการ THNG Camp 5th และมีการกล่าวแนะนำองค์กรและกิจกรรมของ Thailand Networking Group ที่จะมีขึ้นในอีก5วันถัดไป จากนั้นจึงมีการเริ่มบรรยายให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Mobile Router โดย ดร.อภินันทน์ ตั้นพันธุ์ นักวิจัยเทคโนโลยีเครือข่าย intERLab การจัดกิจกรรมเป็นไปในลักษณะที่มีการบรรยายกึ่งการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเครื่องส่งและกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตทั้งในภาคทฤษฏีและในช่วงครึ่งหลังมีการทดลองในระดับปฏิบัติการภายในห้องปฏิบัติการของ intERLab กิจกรรมดำเนินรูปแบบภายใต้ แนวคิดเรื่องกระบวนการกลุ่มและการเรียนแบบร่วมมือ (Group Process and Cooperative Learning) โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั้นส่วนใหญ่ล้วนแต่มีพื้นฐานความรู้เดิมเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศในหลากหลายสาขา เช่น วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ โทรคมนาคมหรือเทคโนโลยีทางการศึกษา เป็นต้น การแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ในลักษณะเชิงสหวิทยาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายได้ดี จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้การจัดกระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ในภาคบ่ายมีการทดลองฝึกปฏิบัติโดยลงพื้นที่จริงรอบบริเวณของห้องปฏิบัติการของ intERLab สถานบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เพื่อทดลองการใช้งานเครื่อง Mobile Router ว่ามีการรับส่งสัญญาณไปได้ไกลแค่ไหน ต้องจัดวางตำแหน่งการจัดส่งและกระจายสัญญาณอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ โดยมีการวางแผนลงในแผนผังปฏิบัติการก่อนที่จะมีการออกแบบการทดลองและลงในภาคสนามเพื่อปฏิบัติตามชุดทดลองจริงแล้วกลับมาเข้ามาในห้องปฏิบัติการของ intERLab อีกครั้งเพื่อถอดบทเรียนหาข้อดีข้อด้อยโดยการอภิปรายรายกลุ่มย่อย มีการทำซ้ำหลายๆครั้งจนได้ลักษณะรูปแบบของการส่งและกระจายสัญญาณที่ดีที่สุดเพื่อเตรียมในการลงพื้นที่ปฏิบัติจริงเมื่อเดินทางไปลงพื้นที่ชุมชนบ้านใหม่ ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
วันที่ 17 กรกฏาคม 2558
การเดินทางสู่พื้นที่ชุมชนบ้านใหม่ ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
การเดินทางสู่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตากเริ่มต้นในเวลา 9.00 น โดยประมาณ ซึ่งใต้รถตู้จำนวนทั้งสิ้น 6คน (5 คันเป็นรถของผู้เข้าร่วมกิจกรรมและอีก1คันเป็นรถของทางเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการวิจัย intERLab)และรถกระบะมีประเภทมีหลังคาอีก1 คนโดยทางผู้จัดกิจกรรมได้เตรียมความพร้อมของการเดินทางด้วยแจกน้ำดื่ม เวชภัณฑ์ ถุงพลาสติกและลูกอมให้กับรถตู้ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนในระหว่างการเดินทางมรการประสานงานกันระหว่างทีมพี่เลี้ยงโดยใช้งานแอปพลิเคชั่น Line ผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อนัดหมายจุดจอดรถและพักรับประทานอาหารที่ครัวแม่กุหลาบ จังหวัดนครสวรรค์แล้วเดินทางสู่จุดหมายปลายทางที่ชุมชนบ้านใหม่ ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตากในเวลาประมาณ19.30 น หลังจากเข้าสู่เขตจังหวัดตากฟากตะวันตก(อำเภอแม่สอด)แล้ว เกิดฝนฟ้าคะนองตลอดเส้นทาง การเดินทางจึงเป็นไปอย่างระมัดระวังจนกระทั่งถึงที่หมาย มีการรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน ณ ร้านอาหารในพื้นที่ชุมชนบ้านใหม่ จากนั้นจึงนั้นหมายภารกิจของกิจกรรมที่จะมีในเช้าของวันถัดไปโดยเริ่มต้นจากบ้านผู้ใหญ่ แล้วนำผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้าที่พัก
วันที่ 18 กรกฎาคม 2558
การลงพื้นที่ชุมชนวันแรก : การสำรวจความต้องการใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ต การวัดสัญญาณการรับส่งกระจายสัญญาณเพื่อเตรียมการติดตั้งเสารับส่ง–กระจายสัญญาณ
กิจกรรมเริ่มต้นขึ้นโดยการประชุมวางแผนกันระหว่างวิทยากรฝ่ายเทคนิคจากทีมห้องปฏิบัติการวิจัย intERLab กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเตรียมการลงสำรวจความต้องการของคนในพื้นที่โดยการเข้าไปในพื้นที่ของชุมชนเพื่อแจ้งให้ชาวบ้านทราบถึงวัตถุประสงค์การมาทำกิจกรรมของโครงการติดตั้งเครื่องรับส่งและกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตในชุมชนซึ่งทั้งการมาสำรวจพื้นที่และการติดต่อระสานของทางผู้ใหญ่บ้านในก่อนหน้าของการมาลงพื้นที่ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั้นพอที่จะวางผังจุดติดตั้งเสาส่งสัญญาณได้บ้างแล้ว โดยเลือกจุดติดตั้งเสาส่งสัญญาณตาม “หย่อมบ้าน” หรือกลุ่มของหลังคาเรือนที่กระจายตัวอยู่แต่ละบริเวณของชุมชน และสำรวจความต้องการเพื่อการใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตที่เจาะลึกลงไปในแต่ละรายหลังคาเรือน รวมทั้งการอธิบายถึงรูปแบบลักษณะการติดตั้งในแต่ละบริเวณ ส่วนสำคัญที่เป็นหลักในการอธิบายนั่นคือเรื่องของค่าใช้จ่ายที่จะมีขึ้นภายหลังมาการติดตั้งตัวอุปกรณ์รับส่งและกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต
ภายหลังจากการสำรวจความต้องการการใช้เครื่องรับสัญญาณอินเตอร์เน็ตในแต่ละหลังคาเรือนในชุมชนแล้ว ก็มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทบความรู้เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ Routerตัวหลักอีกครั้ง ว่ามีการทำงานในเชิงเทคนิคอย่างไร โดยทางวิทยากรฝ่ายเทคนิคจากทีมห้องปฏิบัติการวิจัย intERLab ได้ให้คำแนะนำกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเรื่องการติดตั้งแล้วการสำรวจสัญญาณในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในการสำรวจวัดจุดรับส่งกระจายสัญญาณอย่างไม่ถาวรนั้นใช้ไม่ไผ่เป็นอุปกรณ์ช่วย ก่อนที่จะมีการใช้เสาที่ทำจากเหล็กจริงในวันถัดไป
วันที่ 19 กรกฎาคม 2558
การกำหนดจุดเสารับส่งและกระจายสัญญาณ การแบ่งกลุ่มเพื่อติดตั้งอุปการณ์
เมื่อได้มีการติดตั้งเสารับส่งสัญญาณ 3 จุด ตาม “หย่อมบ้าน” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้มีการแบ่งกลุ่มเพื่อการติดตั้งอุปกรณ์รับส่งสัญญาณขนาดเล็กตามบ้านที่มีความต้องการใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตโดยแบ่งเป็นทีมลงเสาหลักรับส่งสัญญาณ 3 จุดและแบ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เหลือออกเป็น3ทีม เพื่อกระจายกันไปหาจุดวาง Router ตัวเล็กตามแต่ละบ้าน โดยจัดติดตั้งให้สามารถรับส่งและกระจายสัญญาณกันได้และวางจุดที่จะติดตั้งอุปกรณ์ Router
ภารกิจของกิจกรรมตลอดทั้งวันเป็นกิจกรรมเชิงเทคนิคใช้ระยะเวลาติดต่อกันยาวตั้งแต่เช้าจนถึง 6 โมงเย็นซึ่งในวันนี้ไม่มีฝนฟ้าคะนองในพื้นที่
วันที่ 20 กรกฎาคม 2558
วันสุดท้ายของการปฏิบัติการลงพื้นที่ชุมชน
ในช่วงก่อนการเริ่มทำกิจกรรมผู้จัดกิจกรรมได้ใช้กระบวนการสันทนาการเชิงสร้างความสัมพันธ์กันอย่าง่ายเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมเล่นกิจกรรม “ซุบซิบผ่านจดหมาย” โดยลักษณะกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมร่วมกันเขียนบัตรสนเท่ห์เพื่อบอกเล่าความรู้สึกของผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่มีต่อค่ายในครั้งนี้ โดยที่ไม่มีการลงต่อลงในกระดาษที่ทางผู้จัดกิจกรรมได้จัดเตรียมไว้ให้ จากนั้นนำกระดาษที่เขียนข้อความสื่อไปยังผู้รับสารปลายทางโดยไม่ให้รู้ว่าผู้ส่งสารต้นทางเป็นใคร ซึ่งวิธีการนี้เป็นการใช้วิธีการรับกล่องจดหมาย (Postbox Method) ซึ่งกิจกรรมสำคัญคือการเปิดอ่านจดหมายที่ส่งมาในช่วงเวลาว่างของกิจกรรม เช่น การพักเบรก การพักรับประทานอาหาร ทั้งในช่วงเที่ยงและช่วงเย็นซึ่งสร้างความสนุกสนานให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างมากต่อข้อความหรือสารที่ผู้ร่วมกิจกรรมเขียนขึ้นจดหมายทั้งความรู้สึก ความประทับใจ เรื่องเล่า สิ่งที่อยากจะบอกต่อผู้จัดกิจกรรม หรือข้อความแซวให้เกิดความตลกขบขัน
กิจกรรมในวันสุดท้าย
ทางผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีการนำอุปกรณ์ Router ไปติดตามบ้านตามจุดที่กำหนดไว้ มีการทดสอบและวัดสัญญาณอีกรอบ ต้องหาที่รับสัญญาณได้ดีที่สุด ได้เรียนรู้การดูค่า ETX การวัด Speed test ซึ่งอีกหนึ่งในภารกิจเพิ่มเติมของวันสุดท้ายนั้นคือ การติดตั้งสายไฟ เพื่อใช้สำหรับอุปกรณ์รับส่งสัญญาณของแต่ละบ้าน ทางผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีการจัดสรรหน้าที่โดยให้ฝ่ายเทคนิคจัดการเดินสายไฟติดตั้งอุปกรณ์และจัดสรรให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมบางคนจัดทำคู่มืออธิบาย วิธีการใช้งานรวมทั้งการดูแลรักษาอุปกรณ์รับส่งและกระจายสัญญาณอย่างง่ายเพื่อเตรียมให้คำแนะนำและถ่ายทอดความรู้ให้กับบ้านแต่ละหลังคาเรือนในชุมชนที่มีการติดตั้งอุปกรณ์รับส่งและกระจายสัญญาณ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้ทักษะทางการสื่อสาร ที่ไม่ใช่เทคนิควิธีการที่ถูกอธิบายด้วยภาษาเฉพาะในแวดวงของเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารทางเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามาส่วนช่วยกระบวนการนี้ ตั้งแต่การใช้ภาษาเพื่อการอธิบายในคู่มือวิธีการใช้และการดูแลรักษาอุปกรณ์ดังกล่าว รวมทั้งการให้ความรู้ตามบ้าน เป็นต้น
วันที่ 21 กรกฎาคม 2558
การเดินทางกลับ
เริ่มต้นโดยการรับประทานอาหารเช้า ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน บ้านใหม่ ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตากและมีการเล่นเกมซุบซิบผ่านจดหมาย เป็นรอบสุดท้ายในกิจกรรมค่ายครั้งนี้ จากนั้นจึงได้มีการบันทึกภาพเป็นที่ระลึกร่วมกันก่อนจัดแบ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมและทีมคณะผู้จัดกิจกรรมขึ้นรถตู้โดยแบ่งจำนวนคับตามสายส่ง ณ ปลายทาง ได้แก่ ปลายทางที่ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต และปลายทางปั๊มน้ำมัน ย่ายสนามเป้า ถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นการที่ผู้จัดกิจกรรมร่วมเดินทางส่งผู้เจ้าร่วมกิจกรรมให้ถึงยังเป้าหมายที่ใกล้ที่สุด
การเดินทางเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ09.30 น. โดยแรกเริ่มนั้นได้มีการวางแผนว่าจะมีการนำผู้เข้าร่วมกิจกรรมแวะซื้อของฝาก ของที่ระลึก ณ ตลาดดอยมูเซอร์ ซึ่งเมื่อเดินทางเข้าสู่เขตอำเภอแม่สอดแล้ว เกิดฝนฟ้าคะนองกระจายตัวตลอดเส้นทางการเดิน ในการเดินทางขากลับนั้นทางผู้จัดกิจกรรมได้มีการใช่เครื่องมือวิทยุสื่อสารเพื่อการติดต่อกันระหว่างรถตู้แต่ละคันและมีการพักรับประทานอาหารกลางวันในตัวอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อเดินทางเข้าสู่เขตจังหวัดนครสวรรค์จึงมีการแวะพักซื้อขอฝากที่ครัวแม่กุหลาบ แล้วก็ได้เดินทางมุ่งสู่จุดหมายปลายทางทั้งสองที่ตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้น